โรคลมร้อน

ในช่วงฤดูร้อนมักพบเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ที่จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกมาไม่ได้โดยทันที หากเกิดอาการควรได้รับการรักษาทันที เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง มักจะเกิดกับบุคคลที่ทำงานในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด ผู้ที่ออกกำลังกาย ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศร้อนจัด

อาการของโรค

  1. มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส
  2. วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เมื่อยล้า อ่อนเพลีย และหมดสติ
  3. ระบบประสาทมีความผิดปกติ เช่น ชัก เพ้อ เดินโซเซ ตอสนองช้า พูดจาสับสน
  4. ไม่มีเหงื่อออก จากผลของต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น
  5. ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย และอาจเกิดภาวะไตวายตามมาได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล คือการนำตัวผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีแดด ถอดเสื้อที่ไม่จำเป็นออกให้ได้มากที่สุด และทำการลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลง เช่น รดน้ำเย็นใส่ตัว ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว เน้นที่บริเวณหลังคอ ข้อพับและขาหนีบ เป่าพัดลมที่มีไอน้ำเย็น เปิดแอร์

การป้องกัน

  • ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายและบาง อากาศถ่ายเทได้ดี
  • หากออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานควรดื่มน้ำ และเกลือแร่ให้มาก เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่
  • ในกรณีที่ต้องย้ายไปอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อนกว่าเดิม ควรงดการทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายหนักในสภาพอากาศร้อนจัดในระยะแรกจนกว่าร่างกายจะคุ้นชินกับสภาพอากาศ
  • หากเริ่มมีอาการของโรคเกิดขึ้นควรเริ่มปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบไปโรงพยาบาลทันที