โรคความดันโลหิตสูง

เป็นภาวะที่แรงดันของเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดมีค่าสูงเกินปกติ (ค่าความดันโลหิตน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท) หากมีค่าตั้งแต่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ต้องทำการควบคุม แต่ถ้าวัดความดันโลหิต ได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไปถือว่ามีภาวะเป็นโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดความเสียหายและการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและอุดตัน หรืออาจทำให้หลอดเลือดแตกได้

โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดและสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ ของคนไทยเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการเตือนให้เราได้รู้

ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นความดันโลหิตสูง และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ในปริมาณที่น้อยลง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันโลหิต คือ การทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ไขมันในเลือดสูง ขาดการออกกำลังกาย อ้วน หรือมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น เครียดเรื้อรัง สูบบุหรี่ และดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

อาการเตือน

โรคความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเตือนแต่มักพบโดยบังเอิญ ขณะไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการอื่น มีบางรายที่อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานาน หรือความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ถูกต้องและทันเวลา

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูง

  • หัวใจ อาจเกิดหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้นทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว
  • สมอง อาจเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตทันที
  • ไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การคั่งของสารพิษในร่างกาย อาจถึงเสียชีวิตได้
  • ตา อาจเกิดเลือดออกที่ตา ตามัวจนถึงตาบอดได้
  • หลอดเลือด อาจทำให้หลอดเลือดตีบแคบ หรือโป่งพอง มีผลให้เลือดไปเลี้ยงแขนขา และอวัยวะภายในน้อยลงจนเดินไม่ไหวหรือเดินได้ไม่ไกล เพราะปวดขาจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

การป้องกันความดันโลหิตสูง

  • ชิมอาหารก่อนรับประทาน ทุกครั้ง ทานอาหารที่มีรสชาติพอเหมาะ ไม่เค็มเกินไป
  • ลดการใช้น้ำปลา เกลือ และเครื่องปรุงรสหลายๆอย่างรวมกันในอาหาร หันมาใช้เครื่องเทศและสมุนไพรแทน เช่น หัวหอม กระเทียม พริกไทย มะนาว เป็นต้น
  • เลือกซื้อผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่สดใหม่มาปรุงอาหารรับประทานเอง แทนการเลือกซื้อแกงถุง อาหารกระป๋องผักดอง และอาหารสำเร็จรูป
  • ไม่ว่างเครื่องปรุงไว้บนโต๊ะอาหาร เช่น น้ำปลา ซอส เป็นต้น
  • ควรอ่านฉลากอาหารก่อนทุกครั้งและเลือกซื้ออาหารกระป๋องหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณเกลือ (โซเดียม) ปริมาณที่ต่ำหรือน้อย
  • เพิ่มการกินผักและผลไม้รสไม่หวานมาก
  • ออกกำลังกายประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5ครั้ง/สัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างกระฉับกระเฉง
  • ทำจิตใจให้สบาย ควบคุมความดันโลหิตให้ไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
  • จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง หรือ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย และไม่ควรดื่มทุกวัน
  • งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่มีควันบุหรี่
  • สังเกตอาการผิดปกติ หรืออาการเตือนและวัดค่าความดันโลหิตของตัวเองอยู่เสมอ คนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง